งานวิจัยโดยชุมชนคือสิ่งจำเป็นสำหรับการพัฒนาในปัจจุบัน: คู่มือสำหรับผู้นำการเคลื่อนไหวในชุมชนทั่วโลก

โดย อิชิตา เพทการ์, จอห์น เมวเบ, ต้อม วีรฉัตร

โครงการเพื่อความรับผิดชอบสากล (International Accountability Project) ร่วมแลกเปลี่ยนเครื่องมือใหม่เพื่องานวิจัยโดยชุมชน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของชุดคู่มือสำหรับชุมชนทั่วโลก

คู่มือชุดนี้ประกอบด้วย

  • คำแนะนำแต่ละขั้นตอนของการทำวิจัยโดยชุมชนเองเพื่อกำหนดลำดับความสำคัญในการพัฒนาของชุมชน และเพื่อโต้กลับโครงการพัฒนาที่ชุมชนไม่ต้องการ
  • เทคนิค เครื่องมือ และกิจกรรมสำหรับการทำวิจัยโดยชุมชน
  • เรื่องราวที่น่าสนใจจากผู้นำการเคลื่อนไหวในชุมชนทั่วโลกที่เคยใช้งานวิจัยโดยชุมชนเพื่อสร้างกระบวนการพัฒนาของตนเอง

สมาชิกในชุมชน ผู้นำการเคลื่อนไหว และตัวแทนภาคประชาสังคมสามารถใช้เครื่องมือนี้เพื่อขับเคลื่อนชุมชน บันทึกผลกระทบและการละเมิดสิทธิ รวมทั้งช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับการรณรงค์ของชุมชน

“เมื่อสมาชิกชุมชนทำวิจัยของตนเอง พวกเขาอาจค้นพบสิ่งที่คนอื่นไม่สามารถพบได้ ชุมชนมีความรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมรอบตัวของพวกเขาเป็นอย่างดีซึ่งผู้มีอำนาจตัดสินใจและผู้วางแผนไม่อาจรู้ได้ บ่อยครั้งที่กระบวนการวิจัยช่วยให้ ชุมชนเข้าใจปัญหาที่พวกเขากำลังเผชิญได้ดีมากขึ้น การทำวิจัยช่วยสร้างความ มั่นใจในความรู้และแนวคิดของชุมชน เสริมสร้างความสามัคคี การตรวจสอบและรับผิดรอบระหว่างสมาชิกของชุมชน รวมทั้งเกิดการเรียนรู้ทักษะที่จำเป็นสำหรับการขับเคลื่อนชุมชน”

คู่มือนี้แบ่งเป็นสามเล่ม ได้แก่

http://bit.ly/guideiapth
  1. คู่มือชุมชนสำหรับงานวิจัยโดยชุมชน ให้รายละเอียดที่ชัดเจนทุกขั้นตอนในการทำวิจัย แนะนำกิจกรรมและแบบฝึกหัดเพื่อเสริมความเข้าใจในกระบวนการ คู่มือเล่มนี้ยังมีข้อมูลเกี่ยวกับความปลอดภัย และเรื่องราวที่น่าสนใจจากผู้นำการเคลื่อนไหวในชุมชนสามคนที่เคยใช้งานวิจัยโดยชุมชนเพื่อสนับสนุนการผลักดันการเปลี่ยนแปลงของชุมชน url:
http://bit.ly/checklistiapth

2. เราเป็นผู้เชี่ยวชาญด้วยเหมือนกัน! ข้อควรรู้เพื่องานวิจัยโดยชุมชน สรุปภาพรวมของการทำวิจัยโดยชุมชน แบ่งกระบวนการออกเป็นขั้นตอนที่ชัดเจนเพื่อให้ง่ายต่อการเตรียมตัว การทำวิจัย และการรณรงค์ ชุมชนสามารถนำข้อควรรู้นี้ไปใช้เองหรือร่วมกับคู่มือข้างต้นได้ หนังสือเล่มนี้ยังรวบรวมแหล่งข้อมูลและเครื่องมือต่าง ๆ ที่จะช่วยให้เข้าใจและทำแต่ละขั้นตอนได้ง่ายขึ้นอีกด้วย url:

http://bit.ly/surveyiapth

3. ตัวอย่างแบบสำรวจสำหรับงานวิจัยโดยชุมชน ประกอบไปด้วยคำแนะนำและตัวอย่างคำถามซึ่งได้รับการพัฒนาและใช้จริงโดยชุมชนและภาคประชาสังคมใน 14 ประเทศทั่วโลก ชุดคำถามนี้ออกแบบมาเพื่อช่วยชุมชนสำรวจประสบการณ์ตรงและความเชี่ยวชาญของชุมชนในกระบวนการพัฒนาและผลกระทบที่สร้างความเสียหายจากโครงการ แบบสำรวจนี้ยังช่วยชุมชนค้นหาแนวคิดและลำดับความสำคัญในการพัฒนาของชุมชน ชุมชนสามารถปรับเปลี่ยนและแปลตัวอย่างแบบสำรวจนี้ให้เหมาะสมกับบริบทสถานการณ์ของชุมชน โดยการแก้ไขเอกสารโดยตรงซึ่งดาวน์โหลดได้ที่ url:

“งานวิจัยโดยชุมชนที่เราได้ดำเนินการในพื้นที่มารังเก ทำให้การต่อสู้ของชุมชนของเราแข็งแกร่งขึ้นและเป็นเครื่องมือในการจัดการชุมชนที่มีประสิทธิภาพทำให้ชุมชนสามารถแสดงออกไปในแนวทางเดียวกัน…เพราะชุมชนเป็นเจ้าของกระบวนการและงานวิจัยนี้ พวกเขาทำให้เสียงสะท้อนปัญหาของพวกเขาถูกรับฟัง” — เมลาเนีย ชิพอนดา, WoMin

เราได้สัมผัสถึงพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงจากงานวิจัยโดยชุมชนที่มาจากชุมชน ภาคประชาสังคม และขบวนการเคลื่อนไหวต่างๆ ทั่วโลก ที่สร้างความเข้มแข็งให้กับการรณรงค์และผลักดัน ต่อต้านโครงการ”พัฒนา”ที่สร้างความเสียหายร้ายแรง ในฐานะส่วนหนึ่งของ “ระบบเตือนล่วงหน้า” (Early Warning System) โครงการเพื่อความรับผิดชอบสากล (IAP) และเครือข่ายได้แลกเปลี่ยนข้อมูลและเครื่องมือเพื่อหาวิธีโต้ตอบกับโครงการพัฒนากับชุมชนที่อาจจะได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาที่กำลังถูกเสนอเพื่ออนุมัติ หลายชุมชนเลือกที่จะทำงานวิจัยโดยชุมชนเป็นขั้นตอนแรกในการโต้กลับกับโครงการที่กำลังถูกเสนอ

อ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับประสบการณ์ของชุมชนทั่วโลกที่ใช้งานวิจัยโดยชุมชนโต้กลับโครงการพัฒนาที่พวกเขาไม่ต้องการ ได้แก่

ในมาลาวี ผลของงานวิจัยโดยชุมชนส่งผลให้แหล่งทุนที่ต้องการสนับสนุนโครงการจัดการน้ำลิลองเว ถอนการสนับสนุน งานวิจัยยังช่วยสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนผลักดันรัฐบาลมาลาวีเพื่อตอบสนองต่อประเด็นการปรึกษาและฟังความคิดเห็นกับชุมชนและการโยกย้ายถิ่นฐาน

สมาชิกชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพลังงานความร้อนใต้พิภพอคิราเข้าร่วมประชุมของชุมชน

ในเคนยา ชุมชนพื้นเมืองมาไซและคนกลุ่มอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพลังงานความร้อนใต้พิภพอคิรา1 ได้ใช้งานวิจัยโดยชุมชนเพื่อเก็บข้อมูลผลกระทบจากโครงการที่ชุมชนประสบมา ข้อเสนอแนะจากงานวิจัยของพวกเขานำไปสู่การผลักดันธนาคารเพื่อการลงทุนของยุโรป รัฐบาลเคนยา และบริษัทเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้โครงการเคารพสิทธิและความต้องการของชุมชน

ในเนปาล ชุมชนพื้นเมืองได้รับผลกระทบจากโครงการเขื่อนผลิตไฟฟ้าทานาหู ซึ่งได้รับการสนับสนุนเงินจากธนาคารพัฒนาเอเชีย ชุมชนทำวิจัยเพื่อชี้ให้เห็นปัญหาเรื่องต่างๆ ทั้งการปรึกษาและฟังความคิดเห็นกับชุมชน ปัญหาด้านการเข้าถึงข้อมูล และผลกระทบต่อวิถีชีวิตและประเพณีดั้งเดิมของชุมชน ผลจากงานวิจัยช่วยสนับสนุนการรณรงค์ของชุมชนและการเจรจาต่อรองกับบริษัทและธนาคารที่สนับสนุนโครงการ

ชุมชนต่างๆที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาการประมงในจังหวัดภาคเหนือของศรีลังกาเข้าร่วมการอบรม

ในศรีลังกา ชุมชนชาวประมงใช้เครื่องมือของไอเอพีเพื่อเรียกร้องข้อมูลโครงการ การปรึกษารับฟังความคิดเห็น และการมีส่วนร่วมในโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่สนับสนุนโดยธนาคารพัฒนาเอเชีย ชุมชนได้ผลักดันให้โครงการปรับเปลี่ยนไปตามความต้องการของชุมชน

ในอินเดีย ชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาเมืองทมิฬนาฑูอย่างยั่งยืน ทำงานวิจัยของชุมชนเพื่อติดตามผลกระทบของโครงการ นำไปสู่การปรับปรุงค่าชดเชยและโครงการโยกย้ายที่อยู่อาศัยแก่ชาวบ้านผู้ด้อยโอกาส

นาย Sikander Brohi ผู้อำนวยการโครงการพัฒนาแบบมีส่วนร่วมนำเสนอผลการวิจัยโดยชุมชน ภาพจาก: Daily Balochistan Express

ในปากีสถาน ชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการจัดการน้ำเบโลชิสถานซึ่งสนับสนุนโดยธนาคารโลก ได้เข้าร่วมกระบวนการวิจัยโดยชุมชนจนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงแผนการดำเนินโครงการและแผนการโยกย้ายที่อยู่อาศัย

ในปานามา ผู้ที่อาศัยในเมืองโคโลนใช้งานวิจัยโดยชุมชนเพื่อรวบรวมความคิดเห็นและกำหนดแนวทางการมีส่วนร่วมกับโครงการก๊าซธรรมชาติซึ่งสนับสนุนโดยบรรษัทการเงินระหว่างประเทศ(IFC) ผลงานวิจัยช่วยชุมชนกำหนดกลยุทธ์ต่อโครงการและยังเผยให้เห็นถึงปัญหาการขาดการปรึกษารับฟังความคิดเห็น การเข้าถึงข้อมูล และประเด็นด้านความปลอดภัยและสวัสดิภาพของประชาชน

ในชิลี ชุมชนชาวประมงดั้งเดิมใช้คู่มืองานวิจัยโดยชุมชนของไอเอพีเพื่อระบุลำดับความสำคัญในการพัฒนาเพื่อรับมือกับโครงการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเลซึ่งเสนอโดยกลุ่มธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งทวีปอเมริกา ผลการสำรวจจากงานวิจัยจะนำไปสู่การสร้างแผนการพัฒนาโดยชุมชนซึ่งเป็นทางเลือกจากลำดับความสำคัญในการพัฒนาที่ชุมชนระบุไว้

โครงการเพื่อความรับผิดชอบสากล (ไอเอพี) เชื่อมั่นว่าการสนับสนุนให้ชุมชนเก็บข้อมูลจากความความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ที่มีอยู่ในท้องถิ่น เราสามารถร่วมกันท้าทายอำนาจที่ไม่สมดุลและทำให้การพัฒนาเป็นเรื่องของทุกคน ยั่งยืน และตอบสนองต่อสิ่งที่ประชาชนต้องการ

การสร้างและผลักดันการพัฒนาโดยชุมชนนั้นจำเป็นต้องทำร่วมกันทั้งสังคม ไอเอพีขอขอบคุณองค์กรภาคประชาสังคมและชุมชนที่ได้ทำงานร่วมกันและร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เครื่องมือ และให้คำปรึกษาแก่พวกเรามาโดยตลอด เราหวังว่าคู่มือนี้จะมีส่วนช่วยส่งเสริมการต่อสู่เพื่อสร้างโลกที่การพัฒนานั้นถูกออกแบบโดยผู้ที่จะต้องใช้ชีวิตอยู่กับการพัฒนานั้น

ดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับงานวิจัยโดยชุมชนจากรายงานการเสวนาโต๊ะกลมเรื่องงานวิจัยโดยชุมชนในเอเชียแปซิฟิก ซึ่งไอเอพีจัดขึ้นที่เชียงใหม่

--

--

International Accountability Project (IAP)

IAP is a human and environmental rights organization that works with communities, civil society and social movements to change how today’s development is done.